การรักษาผนังกั้นโพรงจมูกคด ด้วยเลเซอร์ (LASER-ASSISTED SEPTAL CARTILAGE RESHAPING)
ผนังกั้นช่องจมูกคด คือ การที่ผนังกั้นช่องจมูกอยู่ในตำแหน่งที่เคลื่อนจากกึ่งกลางจมูกไปยังช่องจมูกข้างใดข้างหนึ่ง ทำให้ช่องจมูกข้างที่ผนังกั้นจมูกเอียงเข้าหามีขนาดเล็กกว่าช่องจมูกอีกข้างหนึ่ง
เมื่อผนังกั้นช่องจมูกเอียงหรือคดจะเกิดอะไรขึ้น? หากผนังกั้นช่องจมูกเอียงหรือคดมาก จะทำให้อากาศผ่านเข้าช่องจมูกข้างที่ผนังกั้นเอียงเข้าหาได้น้อยลง จนอาจทำให้เกิดอาการคัดจมูกในข้างนั้นๆ อาจมีอาการหายใจไม่สะดวก และมีเลือดออกได้จากการแคะจมูก หรือมีผนังเยื่อบุจมูกที่แห้ง (drying effect of air flow) ทั้งนี้ ผนังกั้นช่องจมูกคดอาจมีอาการเนื้อเยื่อบุช่องจมูกบวม (congestion) ร่วมด้วย ทำให้เกิดการคัดจมูกมากขึ้น การรักษาอาการคัดจมูกในผู้ป่วยจากสาเหตุนี้ คือการให้ยาลดบวมเยื่อบุจมูก แต่ถ้าจะแก้ไขผนังกั้นจมูกคดก็จำเป็นต้องใช้วิธีการผ่าตัดรักษา
การผ่าตัดรักษาผนังกั้นช่องจมูกคดแบบเดิม การผ่าตัดผนังกั้นช่องจมูกที่เป็นมาตรฐานนั้นมีมานานแล้วเรียกว่า Nasal Septoplasty ซึ่งเป็นการผ่าตัดโดยตัดผนังกั้นจมูกส่วนที่เป็นกระดูกอ่อนออกไปบางส่วน เพื่อให้ช่องจมูกกว้างขึ้น แต่การผ่าตัดในลักษณะนี้คนไข้จะต้องนอนพักในโรงพยาบาลประมาณ 2 คืน และต้องมีการพักฟื้นเมื่อกลับบ้านแล้วอีก 3-4 สัปดาห์ โดยอาการแทรกซ้อนจากการผ่าตัดที่อาจเกิดขึ้นได้ก็มีหลายอย่าง เช่น มีเลือดออกมากระหว่างผ่าตัดหรือเลือดออกหลังการผ่าตัด แผลผ่าตัดติดเชื้อ เกิดหนองที่ผนังกั้นจมูก ผนังกั้นช่องจมูกเป็นรูทะลุ (Septal perforation) กลุ่มอาการท็อกซิกช็อค (Toxic Shock Syndrome) น้ำไขสันหลังรั่วลงจมูก (Cerebrospinal fluid rhinorrhea) กล้ามเนื้อเคลื่อนไหวลูกตาถูกทำลายเสียหาย (Extraocular muscle damage) ดั้งจมูกทรุดผิดรูป (Saddle nose deformity) ปลายจมูกทรุดต่ำ (nasal tip depression) ความรู้สึกสัมผัสผิดปกติไป เช่น จมูกไม่ได้กลิ่น (Anosmia) หรือ ชาฟัน (dental anesthesia) เป็นต้น
การผ่าตัดผนังกั้นจมูกคด...แบบใหม่ โดยใช้เลเซอร์ ปัจจุบันมีการผ่าตัดวิธีใหม่ คือการใช้แสงเลเซอร์ช่วยในการผ่าตัด ที่เรียกว่า LASER-ASSISTED SEPTAL CARTILAGE RESHAPING (LASCR) ซึ่งเป็นการผ่าตัดที่มุ่งแก้ไขความผิดรูปของกระดูกอ่อนผนังกั้นช่องจมูก ด้วยการใช้แสงเลเซอร์ยิงผ่านเยื่อบุจมูกเพื่อไปทำปฏิกิริยาที่มวลสารกระดูกอ่อน ทำให้กระดูกอ่อนผนังกั้นช่องจมูกอ่อนตัวลง แพทย์ก็จะสามารถจัดการแก้ไขความผิดรูปของกระดูกอ่อนได้ ทำให้ช่องจมูกข้างที่แคบกว้างขึ้น ผนังกั้นช่องจมูกมีความเอียงคดลดน้อยลง และการหายใจผ่านช่องจมูกข้างที่มีปัญหาดีขึ้น
การผ่าตัดแบบใหม่ด้วยการใช้เลเซอร์นี้ มีข้อดีคือ ไม่ต้องผ่าตัดเอากระดูกอ่อนบางส่วนออกเหมือนการผ่าตัดแบบเดิม การบาดเจ็บจากการผ่าตัดจึงลดลงมาก ใช้เวลาผ่าตัดน้อยกว่าเดิม คือใช้เวลาประมาณ 20 นาที ทั้งยังลดการเกิดอาการแทรกซ้อนต่างๆได้ดี และไม่ต้องนอนโรงพยาบาล จึงประหยัดค่าใช้จ่ายกว่า และการผ่าตัดยังได้ผลเป็นที่น่าพอใจ (success rate over 95%) อีกด้วย
Comments