top of page

นวัตกรรม “รักษานอนกรนด้วยการร้อยไหม” Spring Thread Snoreplasty

อาการนอนกรนพบได้บ่อยในคนทั่วไป ในเด็กอาการนอนกรนมักเกิดจากการมีต่อมทอนซิล และ/หรือ ต่อมอดีนอยด์ที่โตกว่าปกติ จนอาจมีภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจร่วมด้วย ในผู้ใหญ่เมื่ออายุมากขึ้น ร่วมกับน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น ก็อาจมีอาการนอนกรนเกิดขึ้นได้ ส่วนใหญ่เนื่องจากมีการหย่อนคล้อยของเพดานอ่อน ในอดีตหัตถการที่ใช้รักษานอนกรน ใช้หลักการที่ผ่าตัดเพื่อให้ช่องลำคอกว้างขึ้น โดยตัดเนื้อเยื่อของเพดานอ่อนส่วนที่หย่อนคล้อยออกไป เช่น การผ่าตัด (Old) UPPP, LAUP เป็นต้น ปัจจุบันหลักการแก้นอนกรน ที่มีสาเหตุจากการหย่อนคล้อยของเพดานอ่อนเปลี่ยนไปจากอดีต โดยเปลี่ยนมาใช้หลักการที่ทำให้เพดานอ่อนตึงตัวขึ้น โดยเรียกรวมๆว่า Palatal Stiffening Operation  ตัวอย่างเทคนิคแบบใหม่นี้ เช่น Pillar Procedure, Injection Snoreplasty, Modified CAPSO เทคนิคใหม่เหล่านี้ เน้นการทำให้เกิดความตึงตัวของเพดานอ่อน โดยทำให้เกิดพังผืด (Fibrosis) ที่เพดานอ่อน


ในปี ค.ศ. 2007 - 2008  มีรายงานจากประเทศเกาหลี ได้มีการใช้ไหมชนิดไม่ละลาย ( Non absorbable suture ) เย็บยกกระชับเพดานอ่อน ทำให้เพดานอ่อนยกตัวขึ้น (Lifting) และตึงตัวขึ้น (Tightening) ร่วมกับการเย็บที่ทำให้เนื้อเยื่อ

เพดานอ่อนรวมตัวกัน ทำให้เพดานอ่อนหดสั้นลง (Conglomeration) มีผลทำให้อาการนอนกรน และภาวะหยุดหายใจขณะหลับชนิดไม่รุนแรง บรรเทาลงได้ เทคนิคนี้เรียกว่า Sling Snoreplasty และในปี ค.ศ. 2010 มีรายงานจากประเทศตุรกี ได้พัฒนาเทคนิคการเย็บเพดานอ่อน โดยใช้ไหม Vicryl  ซึ่งเป็นไหมชนิดละลายได้เอง เย็บที่เพดานอ่อนโดยเย็บเป็นรูปสามเหลี่ยม 2 อัน ทางซ้ายและขวาจากจุดกึ่งกลางเพดานอ่อน (Double Triangle- Modified Sling Snoreplasty) ซึ่งสรุปรายงานว่า สามารถรักษาอาการนอนกรนได้ผลเป็นที่น่าพอใจ

เทคนิคในการรักษานอนกรนที่กล่าวมาข้างต้นนั้น นับได้ว่าเป็นเทคนิคที่ชาญฉลาด เพราะเป็นการหัตถการที่ง่าย และปลอดภัย ผู้ป่วยเจ็บน้อย ฟื้นตัวเร็ว และค่าใช้จ่ายไม่แพง แต่ในทางปฏิบัติ อาจมีข้อด้อยดังนี้คือ ในการเย็บเพดานอ่อน ถ้าใช้ไหมชนิดละลายได้เอง เช่น Vicryl ผลการรักษาจะคงอยู่ไม่ได้นานเพราะใน 2-3 เดือน ไหม Vicryl จะละลายหมด และพังผืดรอบๆ ไหม ก็จะค่อยๆสลายไปเช่นกัน ผลการรักษาอาจอยู่ได้แค่ 1-2 ปี ส่วนการใช้ไหมชนิดไม่ละลาย (Prolene) นั้น จะดีกว่าที่ไหมไม่ละลายพังผืด (Fibrosis) น่าจะอยู่ได้นานกว่า แต่เป็นที่ทราบกันว่าเพดานอ่อนมีการขยับเคลื่อนไหวอยู่แทบจะตลอดเวลา เช่น ขณะหายใจเข้าออก กลืนน้ำลาย หรือแม้แต่ดื่มน้ำ และการพูด เป็นต้น เคยมีการวิจัยว่า Tensile Strength ของไหม nylon ทั่วไปจะลดลง 50% ในเวลา 6 เดือน  และลดลง 70% ในเวลา 2 ปี ดังนั้นการใช้ไหมชนิดไม่ละลาย Prolene หรือ Nylon ธรรมดาทำ Sling Snoreplasty การตึงตัว ยกกระชับของเพดานอ่อนจากไหมเย็บเอง และจากพังผืดก็จะมีไม่ได้เต็มที่ (เมื่อเทียบกับขณะเย็บเสร็จใหม่ๆ) ทำให้ผลการรักษาอาจไม่ดีเท่าที่ควร

Spring Thread  Snoreplasty นวัตกรรมใหม่รักษานอนกรนด้วยไหมสปริง


ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2014 ศูนย์รักษานอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับ รพ.พญาไท3 โดยนายแพทย์สรัลชัย เกียรติสุระยานนท์ ได้พัฒนาการรักษานอนกรนด้วยการร้อยไหม โดยสามารถประดิษฐ์นวัตกรรม “ไหมชนิดสปริงซึ่งมีความจำ”  (Spring Thread with Memory) เป็นผลสำเร็จ และเมื่อนำไหมสปริงนี้มาเย็บยกกระชับเพดานอ่อน จะทำให้ผลการยกกระชับตลอดจนพังผืดที่เกิดขึ้นในเนื้อเยื่อเพดานอ่อน อยู่คงทนกว่าการใช้ไหมชนิดธรรมดา (เพราะ Tensile Strength ของไหมสปริงจะอยู่คงทนกว่า) เทคนิคนวัตกรรมนี้เรียกว่า “Spring Thread Snoreplasty” ซึ่งหัตถการนี้พัฒนามาจาก Double Triangle Sling Snoreplasty โดยการเพิ่มการร้อยไหม บริเวณส่วนกึ่งกลางของเพดานอ่อนอีก 1-2 เส้น เพื่อให้ผลการยกกระชับเพดานอ่อนดีขึ้นกว่าเดิม


“ประโยชน์” ที่จะได้รับจากนวัตกรรมการรักษานอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับด้วยการร้อยไหมนี้ คือ

  • ใช้รักษานอนกรนจากเพดานอ่อนหย่อนคล้อย และภาวะหยุดหายใจขณะหลับชนิดไม่รุนแรง โดยไม่ต้องผ่าตัด

  • ทำได้ง่าย ได้ผลดี ปลอดภัย และประหยัดค่าใช้จ่าย

  • เจ็บแผลน้อยมากเมื่อเทียบกับการรักษาวิธีอื่นๆ (Painless Snoreplasty) เพราะไม่มีการตัดเนื้อเยื่อเพดานอ่อน ไม่มีระยะพักฟื้น

REFERENCES

1.Hur J.  2008; 128(12):1381-4.  A new treatment for snoring: sling snoreplasty with a permanent thread ; Acta Otolaryngol

2.Enöz M, Lapeña JF, Inançli HM, Hafiz G. Kulak Burun Bogaz Ihtis Derg. 2010 Jan-Feb;20(1):51-5. Modified sling snoreplasty: double triangle shaped suture uvulopalatopexy.   Department of Otolaryngology, Yenibosna Safa Hospital, Istanbul

3.Steve Lampman , 2003 , Characterization and Failure Analysis of Plastics.  ASM International

4.Malcolm Dole , 2013 , The Radiation Chemistry of Macromolecules  . Elsevier, 2013

Comments


Featured Posts
Recent Posts
Archive
Search By Tags
Follow Us
  • Facebook Basic Square
  • Twitter Basic Square
  • Google+ Basic Square
bottom of page