การผ่าตัดซ่อมแซมตกแต่งต่อมทอนซิล (Tonsilloplasty) ในเด็กที่ต่อมทอนซิลโตอุดกั้นทางเดินหายใจ
ในปัจจุบันนี้ เป็นที่ทราบกันอย่างแพร่หลายแล้วว่าไม่ควรตัดต่อมทอนซิลทิ้งทั้งหมดในเด็กโดยไม่จำเป็น เนื่องจากในวัยเด็ก ต่อมทอนซิลทำหน้าที่สร้างภูมิคุ้มกันอย่างเต็มที่ในการป้องกันการติดเชื้อ การตัดต่อมทอนซิลทิ้งทั้งหมด (Traditional Tonsillectomy) อาจมีผลเสีย มีรายงานทางวิชาการมากมาย ยกตัวอย่างเช่น งานวิจัยระดับชาติของประเทศสวีเดนเมื่อปี 2011 สรุปว่า ถ้าตัดต่อมทอนซิลทิ้งไปในผู้ป่วยก่อนอายุ 20 ปี จะมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (Acute Myocardial Infarction) เมื่อเป็นผู้ใหญ่สูงกว่าในกลุ่มคนที่ไม่ได้ตัดต่อมทอนซิลอย่างมีนัยสำคัญ บทความนี้ได้รับการแปลเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 8 มิ.ย.2554
ในปี 2013 รายงานวิชาการทางหู คอ จมูก ของสหรัฐอเมริกา Chaidasks, et al. ได้รายงานการซ่อมแซมและตกแต่งต่อมทอนซิลด้วยเทคนิคใหม่ (Tonsilloplasty) ซึ่งเป็นการผ่าตัดต่อมทอนซิลออกบางส่วน และสรุปว่าเทคนิค Tonsilloplasty นี้สามารถใช้เป็นทางเลือกของการผ่าตัดรักษาต่อมทอนซิลโตที่อุดกั้นทางเดินหายใจได้ผลการผ่าตัดเป็นที่น่าพอใจ และได้ผลดีในระยะยาว
นอกจากนี้ ในประเทศเดนมาร์ค National clinical guideline สำหรับการผ่าตัดทอนซิลปี 2016 ได้เสนอว่า แพทย์ควรพิจารณาการผ่าตัดทอนซิลออกบางส่วน (Tonsilloplasty) มากกว่าการตัดทอนซิลทิ้งทั้งหมดแบบเดิม ในเด็กอายุน้อยกว่า12 ปี ที่มีต่อมทอนซิลโตอุดกั้นทางเดินหายใจ
การรักษาหรือแก้ปัญหาต่อมทอนซิลโตด้วยการผ่าตัดแบบสงวนเนื้อเยื่อต่อมทอนซิลและเก็บรักษาโครงสร้างผนังลำคอไว้ หรือที่เรียกว่า Intracapsular tonsillectomy (Tonsillotomy, Tonsilloplasty) นั้นไม่ง่าย เนื่องจากเป็นการผ่าตัดคนละเทคนิคกับการตัดต่อมทอนซิลทิ้งทั้งหมดอย่างสิ้นเชิง ในกรณีที่ใช้ CO2 Laser แพทย์ต้องจัดการสลายเนื้อที่เป็นพยาธิสภาพออกไป พร้อมทั้งเก็บสงวนเนื้อเยื่อที่คุณภาพดีไว้ประมาณ10% พร้อมกับเก็บรักษาเปลือกนอกของต่อมทอนซิล (Tonsil capsule) ที่เป็นโครงสร้างที่แข็งแรงของผนังลำคอด้านข้างเอาไว้ จึงควรดำเนินการโดยแพทย์ผู้มีประสบการณ์และมีความชำนาญในด้านนี้เท่านั้น
ประโยชน์ที่ผู้ป่วยจะได้รับ คือ
1. ไม่เสียอวัยวะต่อมทอนซิล รวมทั้งยังมีเนื้อเยื่อทอนซิลทำหน้าที่ต่อไปได้
2. โครงสร้างลำคอด้านข้างยังแข็งแรงอยู่จึงไม่ทำให้โอกาสนอนกรนหรือหยุดหายใจขณะหลับเพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกับการตัดทอนซิลทิ้งแบบดั้งเดิม
เอกสารอ้างอิง:
http://faculty.smu.edu/ngh/stat6360/Article13.pdf
https://www.thairath.co.th/content/177222
https://www.sst.dk/.../2016/.../EB34FB643B2743C698CB445B775EAE9...
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/23254758