top of page

นวัตกรรม “ รักษานอนกรนด้วยการร้อยไหม ” Spring Thread Snoreplasty

อาการนอนกรนพบได้บ่อยในคนทั่วไป ในเด็กอาการนอนกรนมักเกิดจากการมีต่อมทอนซิล และหรือ ต่อมอดีนอยด์ ที่โตกว่าปกติ จนอาจมีภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจร่วมด้วย

ในผู้ใหญ่ เมื่ออายุมากขึ้น ร่วมกับน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น ก็อาจมีอาการนอนกรนเกิดขึ้นได้ ส่วนใหญ่เนื่องจากมีการหย่อนคล้อยของเพดานอ่อน ในอดีตหัตถการที่ใช้รักษาอาการนอนกรน ใช้หลักการที่ผ่าตัดเพื่อให้ช่องลำคอกว้างขึ้น โดยตัดเนื้อเยื่อของเพดานอ่อนส่วนที่หย่อนคล้อยออกไป เช่น การผ่าตัด (Old) UPPP, LAUP เป็นต้น

ปัจจุบัน หลักการแก้ไขอาการนอนกรน ที่มีสาเหตุจากการหย่อนคล้อยของเพดานอ่อนเปลี่ยนไปจากอดีต โดยเปลี่ยนมาใช้หลักการที่ทำให้เพดานอ่อนตึงตัวขึ้น โดยเรียกรวมๆว่า Palatal Stiffening Operation ตัวอย่างเทคนิคแบบใหม่นี้ เช่น Pillar Procedure , Injection Snoreplasty , Modified CAPSO เทคนิคใหม่เหล่านี้ เน้นการทำให้เกิดความตึงตัวของเพดานอ่อน โดยทำให้เกิดพังผืด (Fibrosis) ที่เพดานอ่อน

ต่อมาในปี ค.ศ. 2007 - 2008 มีรายงานจากประเทศเกาหลี ได้มีการใช้ไหมชนิดไม่ละลาย ( Non absorbable suture ) เย็บยกกระชับเพดานอ่อน ทำให้เพดานอ่อนยกตัวขึ้น ( Lifting ) และตึงตัวขึ้น ( Tightening ) และร่วมกับการเย็บที่ทำให้เนื้อเยื่อเพดานอ่อนรวมตัวกัน ทำให้เพดานอ่อนหดสั้นลง ( Conglomeration ) มีผลทำให้อาการนอนกรน และภาวะหยุดหายใจขณะหลับชนิดไม่รุนแรง บรรเทาลงได้ เทคนิคนี้เรียกว่า Sling Snoreplasty ( ดังรูปที่ 1 )

ในปี ค.ศ. 2010 มีรายงานจากประเทศตุรกี ได้พัฒนาเทคนิคการเย็บเพดานอ่อน โดยใช้ไหม Vicryl ซึ่งเป็นไหมชนิดละลายได้เอง เย็บที่เพดานอ่อน โดยเย็บเป็นรูปสามเหลี่ยม 2 อัน ทางซ้ายและขวา จากจุดกึ่งกลางเพดานอ่อน ( Double Triangle- Modified Sling Snoreplasty ) ดังรูปที่ 2 ซึ่งสรุปรายงานว่า รักษาอาการนอนกรนได้ผลเป็นที่น่าพอใจ

ในทางเทคนิคข้างต้นนั้น นับได้ว่าเป็นเทคนิคที่ชาญฉลาด เพราะเป็นการหัตถการที่ง่าย และปลอดภัย ผู้ป่วยเจ็บน้อย ฟื้นตัวเร็ว และค่าใช้จ่ายไม่แพง แต่ในทางปฏิบัติ อาจมีข้อด้อยดังนี้คือ ในการเย็บเพดานอ่อน ถ้าใช้ไหมชนิดละลายได้เอง เช่น Vicryl ผลการรักษาจะคงอยู่ไม่ได้นาน เพราะใน 2-3 เดือน ไหม Vicryl จะละลายหมด และพังผืดรอบๆ ไหม ก็จะค่อยๆสลายไปเช่นกัน ผลการรักษาอาจอยู่ได้แค่ 1-2 ปี ส่วนการใช้ไหมชนิดไม่ละลาย ( Prolene ) นั้น จะดีกว่าที่ไหมไม่ละลาย พังผืด ( Fibrosis ) น่าจะอยู่ได้นานกว่า แต่เป็นที่ทราบกันว่า เพดานอ่อนมีการขยับเคลื่อนไหวอยู่แทบจะตลอดเวลา เช่น ขณะหายใจเข้าออก กลืนน้ำลาย ดื่มน้ำ รับประทานอาหาร และการพูด เป็นต้น การใช้ไหมเย็บยกดึงกระชับ และผูกปมไว้ โอกาสที่ไหมที่เย็บไว้นั้นจะคลายตัวลงภายในเวลารวดเร็ว เป็นสิ่งที่เป็นไปได้มาก ( Loss of Tensile Strength ) เคยมีการวิจัยว่า Tensile Strength ของไหม nylon ทั่วไป จะลดลง 50 % ในเวลา 6 เดือน และลดลง 70 % ในเวลา 2 ปี

ดังนั้นการใช้ไหมชนิดไม่ละลาย Prolene หรือ Nylon ธรรมดา ทำ Sling Snoreplasty การตึงตัว ยกกระชับของเพดานอ่อนจากไหมเย็บเอง และจากพังผืด ก็จะมีไม่ได้เต็มที่ (เมื่อเทียบกับขณะเย็บเสร็จใหม่ๆ) ทำให้ผลการรักษาอาจไม่ดีเท่าที่ควรจะเป็น

ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2014 ศูนย์รักษานอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับ รพ. พญาไท3 ได้พัฒนาการรักษาอาการนอนกรนด้วยการร้อยไหม โดยสามารถประดิษฐ์ นวัตกรรม “ ไหมชนิดสปริงซึ่งมีความจำ ” ( Spring Thread with memory ) เป็นผลสำเร็จ และเมื่อนำไหมสปริงนี้มาเย็บยกกระชับเพดานอ่อน จะทำให้ผลการยกกระชับตลอดจนพังผืดที่เกิดขึ้นในเนื้อเยื่อเพดานอ่อน อยู่คงทนกว่าการใช้ไหมชนิดธรรมดา ( เพราะ Tensile Strength ของไหมสปริงจะอยู่คงทนกว่า ) เทคนิคนวัตกรรมนี้ เรียกว่า “ Spring Thread Snoreplasty ” ซึ่งหัตถการนี้ พัฒนามาจาก Double Triangle Sling Snoreplasty โดยการเพิ่มการร้อยไหม บริเวณส่วนกึ่งกลางของเพดานอ่อนอีก 1-2 เส้น เพื่อให้ผลการยกกระชับเพดานอ่อนดีขึ้นกว่าเดิม

“ ประโยชน์ ” ที่ผู้ป่วยจะได้รับจากนวัตกรรมการรักษานอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับด้วยการร้อยไหมนี้ คือ

  1. ใช้รักษาอาการนอนกรน จากเพดานอ่อนหย่อนคล้อย และภาวะหยุดหายใจขณะหลับชนิดไม่รุนแรง โดยไม่ต้องผ่าตัด

  2. ทำได้ง่าย ได้ผลดี ปลอดภัย และประหยัดค่าใช้จ่าย

  3. เจ็บแผลน้อยมากเมื่อเทียบกับการรักษาวิธีอื่นๆ ( Painless Snoreplasty ) เพราะไม่มีการตัดเนื้อเยื่อเพดานอ่อน ไม่มีระยะพักฟื้น

รูปที่ 1 : Spring Thread with memory , Sling Snoreplasty

รูปที่ 2 : Double Triangle- Modified Sling Snoreplasty

REFERENCES

1.Hur J. 2008; 128(12):1381-4. A new treatment for snoring: sling snoreplasty with a permanent thread ; Acta Otolaryngol

2.Enöz M, Lapeña JF, Inançli HM, Hafiz G. Kulak Burun Bogaz Ihtis Derg. 2010 Jan-Feb;20(1):51-5. Modified sling snoreplasty: double triangle shaped suture uvulopalatopexy. Department of Otolaryngology, Yenibosna Safa Hospital, Istanbul

3.Steve Lampman , 2003 , Characterization and Failure Analysis of Plastics. ASM International

4.Malcolm Dole , 2013 , The Radiation Chemistry of Macromolecules . Elsevier, 2013

Featured Posts
Recent Posts
Archive
Search By Tags
Follow Us
  • Facebook Basic Square
  • Twitter Basic Square
  • Google+ Basic Square
bottom of page